วันที่ 5 เมษายน 2555 เมืองซิลเวอร์สปริง รัฐแมรี่แลนด์ – คณะนักวิจัยชั้นนำด้านวัคซีนเอดส์ได้ค้นพบข้อมูลที่ช่วยบ่งบอกเกี่ยวกับปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่อาจจะมีบทบาทสำคัญในการป้องกันอาสาสมัครจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลองชนิด “ปูพื้น-กระตุ้น” ระยะที่ 3 (RV144) ซึ่งเป็นการวิจัยต่อยอดภายหลังจากทราบผลของวัคซีนเอดส์ทดลองดังกล่าว โดยผลของการวิจัยต่อยอดครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ The New England Journal of Medicine ฉบับออนไลน์ในวันนี้
โครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลองระยะที่ 3 ซึ่งได้ดำเนินการโดยนักวิจัยไทยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติ เป็นการวิจัยวัคซีนเอดส์จนสามารถค้นพบได้เป็นครั้งแรกของโลกว่าวัคซีนเอดส์ทดลองชนิดนี้มีผลในการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ระดับหนึ่ง โดยพันเอกนายแพทย์เจอโรม คิม จากโครงการวิจัยเอชไอวีกองทัพสหรัฐ (Military HIV Research Program) และเป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย ได้กล่าวว่า “ผลการวิจัยต่อยอดครั้งนี้ ได้สนับสนุนและขยายความรู้ความเข้าใจผลของการวิจัยโครงการ RV144 อย่างมาก และยังเกิดความรู้ใหม่ที่อาจนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนเอดส์รุ่นต่อไปที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
การวิจัยต่อยอดครั้งนี้เป็นการวิจัยทางห้องปฏิบัติการ โดยเป็นความร่วมมือของนักวิจัยจากสถาบันวิจัยวอลเตอร์รีด (Walter Reed Army Institute of Research) และมหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐอเมริกา (Duke University) กับนักวิจัยจากกว่า 25 สถาบัน ในการร่วมกันวิเคราะห์ปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่พบได้ในกลุ่มอาสาสมัครโครงการ RV144 ที่ได้รับวัคซีน จนสามารถพบว่า อัตราการติดเชื้อในกลุ่มอาสาสมัครที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงมีความสัมพันธ์กับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันแอนติบอดี้ชนิดต่าง ๆ
นายแพทย์บาร์ตัน เฮนส์ (Barton Haynes) หัวหน้าคณะนักวิจัยได้กล่าวว่า “การวิจัยต่อยอดครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันของนักวิจัยทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ได้ช่วยกันทำการศึกษาวิเคราะห์การทำงานของภูมิคุ้มกันเพื่อทำความเข้าใจว่าเหตุใดวัคซีนเอดส์ในโครงการ RV144 จึงแสดงผลในทางป้องกันการติดเชื้อ โดยการเปรียบเทียบการตอบสนองภูมิคุ้มกันระหว่างอาสาสมัคร ผู้ที่ติดเชื้อกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ จนเชื่อได้ว่าเราได้พบข้อมูลที่ช่วยชี้แนะว่า วัคซีนเอดส์ในโครงการ RV144 มีกลไกการทำงานอย่างไร”
ผลการวิจัยต่อยอดประการแรกคือการค้นพบว่า อาสาสมัครที่มีปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน(แอนตี้บอดี้)ชนิดไอจีจี (IgG) ซึ่งมีความจำเพาะกับส่วนที่เรียกว่า V2 ที่เป็นส่วนประกอบบริเวณผิวเปลือกนอกของไวรัสเอชไอวี (Envelope Protein) จะมีอัตราการติดเชื้อที่ต่ำกว่าผู้ที่ไม่มีปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันชนิดนี้ ซึ่งนำไปสู่การตั้งสมมติฐานที่ว่า การที่ปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันชนิดไอจีจีนี้ จับกับส่วนที่เรียกว่า V2 ของไวรัส อาจช่วยในการป้องกันการติดเชื้อ
ผลการวิจัยประการที่สองบ่งชี้ว่า อาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับวัคซีนที่มีปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันชนิดไอจีเอ (IgA) น่าจะมีความจำเพาะในการจับบริเวณผิวเปลือกนอกของเชื้อเอชไอวีซึ่งมีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้มากกว่าอาสาสมัครที่ไม่มีปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันชนิดไอจีเอชนิดนี้หรือมีน้อยกว่า คณะนักวิจัยจึงได้ตั้งสมมติฐานว่าปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันชนิดไอจีเอนี้อาจไปขัดขวางการทำงานปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่จำเพาะกับบริเวณผิวเปลือกนอกของไวรัสที่ทำหน้าที่ในการป้องกันการติดเชื้อ
ส่วนผลของการวิจัยวัคซีนเอดส์ RV144 ที่ได้มีการสรุปผลไปก่อนหน้านั้น เป็นการวิจัยวัคซีนเอดส์ทดลองระยะที่ 3 เพื่อทดสอบประสิทธิผลของวัคซีนในกลุ่มอาสาสมัครคนไทยที่ไม่ติดเชื้อจำนวน 16,000คน และได้มีการตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสารทางการแพทย์ The New England Journal of Medicine เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 ผลการวิจัยในครั้งนั้นสรุปได้ว่า วัคซีนชนิด “ปูพื้น-กระตุ้น” ซึ่งใช้วัคซีนที่ชื่อว่า ALVAC® HIV and AIDSVAX® B/E นั้น วัคซีนมีความปลอดภัยและช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในกลุ่มอาสาสมัครที่รับวัคซีนได้ร้อยละ 31.2 ผลการศึกษาของวัคซีนในครั้งนั้นนับได้ว่าเป็นครั้งแรกในโลกที่พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสามารถวิจัยค้นคว้าเพื่อให้ได้วัคซีนเอดส์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผล และยังเป็นโอกาสที่จะทำการวิจัยต่อยอดเพื่อค้นหาปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอัตราการติดเชื้อในกลุ่มอาสาสมัคร
ผลจากการวิจัยต่อยอดในห้องปฏิบัติการที่ได้มีการค้นพบใหม่นี้ ได้สร้างสมมติฐานสำหรับการทดสอบวัคซีนเอดส์รุ่นใหม่ในอนาคต โดยจะทำให้นักวิจัยสามารถคัดเลือกวัคซีนเอดส์ทดลองที่มีแนวโน้มว่าจะมีผลในการป้องกันได้ดียิ่งขึ้น โดยพันเอกนายแพทย์เนลสัน ไมเคิล ผู้อำนวยการโครงการวิจัยเอชไอวีกองทัพสหรัฐ ได้กล่าวว่า “วัคซีนเอดส์ทดลองอาจแสดงผลการป้องกันผ่านกลไกที่หลากหลาย ดังนั้นเราจึงต้องการการวิจัยที่ต่อเนื่องไปจากนี้เพื่อทำความเข้าใจผลการวิจัยนี้ให้มากขึ้น และเพื่อเป็นการค้นหาว่าผลการวิจัยต่อยอดนี้ จะนำไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาวัคซีนเอดส์รุ่นถัดไป หรือวัคซีนแบบเดียวกันนี้กับเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์อื่น หรือวัคซีนแบบเดียวกันนี้กับกลุ่มประชากรที่มีการติดเชื้อผ่านช่องทางอื่นนอกเหนือไปจากการติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์แบบชายกับหญิงได้หรือไม่”
การศึกษาต่อยอดโครงการวัคซีนเอดส์ RV144 นี้ เป็นการวิจัยในห้องปฏิบัติการที่ริเริ่มและประสานงานโดยโครงการวิจัยเอชไอวีกองทัพสหรัฐ แห่งสถาบันวิจัยวอลเตอร์รีด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองบัญชาการวิจัยเวชยุทโธปกรณ์ (The U.S. Army Medical Research and Materiel Command) แห่งกองทัพบกสหรัฐอเมริกา และกองโรคเอดส์ของสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (National Institute of Allergy and Infectious Diseases : NIAID)ภายใต้สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health : NIH) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นความร่วมมือจากนานาชาติที่มีศูนย์ภูมิคุ้มกันวิทยาสำหรับวัคซีนเอชไอวี /เอดส์ (Center for HIV/AIDS Vaccine Immunology : CHAVI) เป็นแกนหลัก ที่มีนายแพทย์บาร์ตัน เฮนส์ เป็นผู้อำนวยการ โดยศูนย์นี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ ภายใต้สถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา และการดำเนินงานร่วมกับองค์กรความร่วมมือเพื่อการค้นคว้าวัคซีนเอดส์ (Collaboration for AIDS Vaccine Discovery) ที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ (Bill and Melinda Gates Foundation) นอกจากนี้ยังมีศูนย์สถิติสำหรับการวิจัยและการป้องกันเอชไอวี /เอดส์ แห่งศูนย์มะเร็งเฟรด ฮัทชินสัน (The Statistical Center for HIV/AIDS Research and Prevention (SCHARP) at the Fred Hutchinson Cancer Research Center) รับผิดชอบในส่วนการออกแบบระเบียบวิธีวิจัยทางสถิติและการวิเคราะห์ข้อมูล
เอกสารรายละเอียดเพิ่มเติม
- บาร์ตัน เฮนส์และคณะ “การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของภูมิคุ้มกันจากการวิจัยประสิทธิผลของวัคซีนอัลแวคและเอดส์แวกซ์ เชื้อเอชไอวี-1” The New England Journal of Medicine , พ.ศ. 2555. (B. Haynes et al., Immune Correlates Analysis of the ALVAC-AIDSVAX HIV-1 Vaccine Efficacy Trial. N Engl J Med 2012).
- ศุภชัย ฤกษ์งามและคณะ “ผลของการฉีดวัคซีนเอดส์ อัลแวค-เอดส์แวกซ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี-1ในประเทศไทย” The New England Journal of Medicine, 2009 ฉบับที่ 361 หน้าที่ 2209-2220 . (S. Rerks-Ngarm et al., Vaccination with ALVAC and AIDSVAX to Prevent HIV-1 Infection in Thailand. N Engl J Med 2009; 361:2209-2220).
ข้อมูลแนะนำ
โครงการวิจัยเอชไอวีกองทัพสหรัฐ (MHRP) แห่งสถาบันวิจัยวอลเตอร์รีด (WRAIR) กองทัพบกสหรัฐอเมริกา ดำเนินการวิจัยพัฒนาเพื่อค้นหาวัคซีนเอดส์ที่มีประสิทธิผล และบูรณาการงานป้องกัน รักษา วินิจฉัยและติดตามผล โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการป้องกันกำลังพลของกองทัพและลดผลกระทบของโรคเอดส์ทั่วโลก โครงการวิจัยเอชไอวีกองทัพสหรัฐได้พัฒนาหน่วยวิจัยระหว่างประเทศที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ 5 แห่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย นอกจากนี้โครงการวิจัยเอชไอวีกองทัพสหรัฐ ยังมีความร่วมมือในการดูแลป้องกันเอดส์และบริการรักษาโดยได้รับทุนจาก “แผนฉุกเฉินของประธานาธิบดีเพื่อบรรเทาปัญหาเอดส์ (PEPFAR) ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก กับกองทัพของประเทศในทวีปแอฟริกาและชุมชนในพื้นที่ที่ดำเนินการวิจัย
รายละเอียดเพิ่มเติม ค้นหาได้ที่ www.hivresearch.org |